การเลี้ยงดูนกหงส์หยกเบื้องต้น

สำหรับผู้ที่อยากเลี้ยงนกหงส์หยก
การเลี้ยงนกหงส์หยกเพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการหรือให้เกิดผลเสียหายน้อยที่สุดกับลูกนกที่จะเกิดมาถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต้องเอาใจใส่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆอย่างมากที่สุดด้วย ทั้งนี้วิธีการต่างๆก็ต้องด้วยประสบการณ์ และการสังเกตลองผิดลองถูกในระยะเวลาพอสมควร เพราะการเลี้ยงดูลูกนกของพ่อ-แม่นกแต่ละคู่ แต่ละคอกก็แตกต่างกัน วิธีการที่ดีบางอย่างอาจจะใช้ได้ผลกับนกบางคู่ และเช่นกันวิธีการที่ดีเดียวกันนั้นก็มักจะใช่ไม่ได้ผลกับพ่อ-แม่นกคู่อื่นๆเลย ทั้งนี้พฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกนกของนกแต่ละตัวขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย เช่น สภาพแวดล้อม อากาศ อาหาร ความสมบูรณ์ของพ่อ-แม่นก และผู้เพาะเลี้ยงนกหงส์หยกก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงนกหงส์หยกให้ได้ผลดีอย่างที่ต้องการหรือไม่

สภาพแวดล้อมในการที่จะทำการผลิตลูกนกให้ได้ผลดี ต้องมีมีการรบกวนจากสัตว์อื่นๆที่เป็นอันตรายกับนกหงส์หยก เช่น งู หนู แมลง ต่างๆ ขณะที่นกกำลังเข้าคู่ผสมพันธุ์หรือขณะดูแลเลี้ยงลูกนกอยู่ ทั้งนี้การจับนกเข้าคู่ที่ได้ผลดีที่สุด คือ การแยกเข้าคู่นกเพียงคู่เดียวต่อกรงเพาะนกหนึ่งคู่ จะให้ผลผลิตที่ดีและสมบูรณ์มากที่สุดกว่าการปล่อยนกบินในกรงรวม แล้วให้นกจับคู่ผสมพันธุ์กันเอง วิธีการนี้เหมาะสำหรับการเลี้ยงนกหงส์หยกเพื่อความเพลิดเพลิน หรือเลี้ยงประดับสวนเพื่อความสวยงามโดยไม่ต้องการให้นกขยายพันธุ์ไปมากมายนัก

อากาศที่เหมาะสำหรับการเพาะขยายพันธุ์นกหงส์หยกต้องเป็นอากาศที่อบอุ่นไม่ร้อนหรือหนาวมากเกินไป เพราะจะส่งผลเสียหายต่อการเพาะขยายพันธุ์นกหงส์หยกได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาการเพาะพันธุ์นกหงส์หยกในฤดูหนาวน่าจะได้ผลผลิตที่ดีที่สุดคือในช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีอากาศที่อบอุ่น อุณหภูมิไม่ติดลบ ก็จะได้ผลดีกับฟาร์มเพาะเลี้ยงที่อยู่ในอาคารบ้านเรือนแต่สำหรับบางฟาร์มที่เป็นที่โล่งแจ้งมีน้ำล้อมรอบก็ไม่เหมาะกับการเพาะพันธุ์ในฤดูหนาวนี้มากนัก เพราะลูกนกเมื่อใกล้ถึงกำหนดฟักเป็นตัว เมื่อเปลือกไข่เริ่มแตกออก อุณหภูมิภายนอกเข้าไปได้ทำให้ลูกนกหงส์หยกตายก่อนฟักออกเป็นตัวในอัตราการตายที่สูง ในทางกลับกันในช่วงฤดูร้อนเดือน เมษายน- กรกฎาคม เป็นช่วงที่ร้อนที่สุด สำหรับประเทศไทยทำให้ฟาร์มที่อยู่ในอาคารบ้านเรือนร้อนอบอ้าว พ่อ-แม่นกบางคู่ไม่สามารถกกไข่ให้ผลผลิตที่ดีในช่วงนี้ได้มากนักผิดกับฟาร์มที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง และมีน้ำล้อมรอบเป็นบริเวณกว้าง หรือโรงเรือนกลางน้ำ จะทำ

ให้การเพาะขยายพันธุ์ได้ผลผลิตดี ดังนั้นการที่จะเข้าคู่ผสมพันธุ์นกหงส์หยกในช่วงอากาศใดก็ต้องดูความเหมาะสมด้วยถือเป็นการพัก พ่อ-แม่นกไปด้วย เพื่อให้นกมีสุขภาพ แข็งแรงสมบูรณ์ไม่โทรมจากการเพาะขยายพันธุ์ตลอดทั้งปี

อาหารและความสมบูรณ์ของพ่อ-แม่พันธุ์นกหงส์หยก สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงนกหงส์หยกผู้เลี้ยงก็ต้องสังเกตและเอาใจใส่ ผสมสูตรอาหารเองตามความเหมาะสมเพราะนกที่จะนำมาทำพ่อแม่พันธุ์ต้องให้อาหารกับนกแล้วไม่ทำให้พ่อแม่พันธุ์อ้วนมากเกินไป เช่น ข้าวโอ๊ด เมล็ดทานตะวัน การออกกำลังกายของพ่อแม่พันธุ์นกเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดด้วย ก่อนการผสมพันธุ์แต่ละครั้งต้องให้พ่อแม่พันธุ์นกออกกำลังเสริมสร้างความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อ แคลเซี่ยมประมาณ 2 เดือน พร้อมกับให้นกผลัดขนให้เรียบร้อยก่อนจับนกเข้าคู่ เมื่อพ่อแม่นกกำลังเลี้ยงลูกอาหารที่สำคัญ เช่นขนมปัง ข้าวโพดอ่อน โดยเฉพาะ ข้าวโอ๊ด ข้าวไรน์ ต้องให้ในอัตราส่วนมากขึ้นด้วย บางฟาร์มอาจจะให้อาหารเสริม จำพวก ซ๊อฟฟู้ด ก็จะเป็นสิ่งที่ดีกับลูกนกด้วยเช่นกัน

ผู้ทำการเพาะเลี้ยงนกหงส์หยกมีผลกระทบอย่างไรกับการผลิตลูกนก อาจจะกล่าวได้ว่าผู้เพาะเลี้ยงมีส่วนสำคัญอย่างมากคือ ต้องเป็นคนที่เอาใจใส่ดูแลและหมั่นสังเกตพฤติกรรมต่างๆของนกทำความสะอาดกรงเพาะ โรงเรือน ไม่รบกวน พ่อ-แม่พันธุ์นกซึ่งอาจจะทำให้นกเกิดความเครียดได้ เช่น นกไม่กกไข่ พ่อแม่จิกตีลูกตัวเอง ไม่ป้อนอาหารให้กับลูกนกเป็นต้น

การเอาใจใส่ดูแลลูกนกที่ให้ได้ลูกนกสมบูรณ์ มีอัตราการตายที่ลดลง โดยเบื้องต้นควรให้พ่อแม่นกเลี้ยงลูกนกไม่เกินคอกละ2 ถึง 3 ตัว ถ้ามากกว่านี้จะทำให้ลูกนกที่ได้มีโครงสร้างและความสมบูรณ์ไม่มีคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อพ่อ-แม่พันธุ์นกที่ดีออกไข่แล้วไม่จำเป็นต้องให้พ่อ-แม่พันธุ์ที่ดีมีราคาแพงต้องฟัก และเลี้ยงลูกเองควรนำไข่ไปให้พ่อแม่นกมือปืนที่ไข่ในวันเวลาเดียวกัน รับไปฟัก และเลี้ยงดูลูกนกแทน วิธีการนี้จะทำให้พ่อ-แม่พันธุ์นกที่ดีมีเวลาพักโดยส่วนมากจะให้พ่อ-แม่พันธุ์นก เข้าคู่ปีละประมาณ 4 ครั้ง โดยพักครั้งละ 3 เดือนในแม่พันธุ์นก ส่วนพ่อพันธุ์นกที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงและเจริญพันธุ์ดี สามารถนำไปเข้าคู่ผสมพันธุ์กับแม่นกตัวอื่นๆได้เลย เพราะนกพ่อแม่พันธุ์ถ้าไม่ปล่อยให้เลี้ยงลูก ก็จะไม่ป่วยและไม่ทรุดโทรม ผิดกับแม่พันธุ์นกถ้ายิ่งให้เลี้ยงลูก หรือออกไข่ติดๆกันโดยไม่พักจะทำให้แม่นกตายได้เร็วกว่าที่ควรจะเป็นและได้ลูกนกที่ไม่มีคุณภาพด้วยซึ่งเป็นการเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายต่างๆอีกมากในการเลี้ยงลูกนกที่ไม่สมบูรณ์นั้น

การเลี้ยงลูกนกหงส์หยก ของพ่อแม่พันธุ์นกบางคู่จะไม่ค่อยสนใจเลี้ยงลูกนกเมื่อลูกนกมีอายุได้ 2-3 สัปดาห์พ่อแม่นกอาจจะไม่สนใจป้อนอาหารให้กับลูกของมันซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ลูกนกต้องการอาหารอย่างมาก เพื่อการเจริญเติบโตผู้เพาะเลี้ยงต้องหมั่นสังเกตลูกนกว่า พ่อแม่นกป้อนลูกนกสมบูรณ์หรือไม่โดยจับลูกนกดูว่ากระเพาะลูกนกมีอาหารเต็ม ลำตัว ขา ปีก อ้วนท้วนสมบูรณ์จับดูแล้วไม่ผอมแห้งถ้าลูกนกได้รับอาหารไม่เพียงพอผู้เพาะเลี้ยงควรป้อนอาหารสำหรับลูกนกเสริมในเวลาเย็น อีกครั้งหนึ่งก็จะเป็นการดี เพราะจะช่วยให้ลูกนกไม่หิวไปจนถึงเช้า และจะทำให้ลูกนกมีความสมบูรณ์แข็งแรงเพิ่มขึ้นด้วย บางคู่เมื่อลูกนกมีอายุได้ 3 สัปดาห์ให้สังเกตพ่อหรือแม่นกป้อนลูกเก่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นพ่อนกที่ทำหน้าที่ได้ดีวิธีการนี้ให้นำแม่นกออกจากกรงเพาะปล่อยให้พ่อนกเลี้ยงลูกโดยลำพังจะทำให้พ่อนกสนใจลูกนกมากขึ้นป้อนอาหารได้สมบูรณ์เต็มที่ เพราะไม่มีแม่นกที่จะมาสนใจ ผสมพันธุ์ต่อไปและถือเป็นการพักแม่นกอีกวิธีหนึ่งด้วย

แสดงความเห็น